เกี่ยวกับกอง
ภาระงานเดิมขณะเป็น ฝ่ายสุขาภิบาลอาหาร มีหน้าที่ให้การสนับสนุนการทำงานด้านการควบคุมกำกับสุขลักษณะของสถานประกอบการอาหาร ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ตามหมวด 8 และหมวด 9 พัฒนาปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติ ระเบียบ หลักเกณฑ์ให้ทันสมัย เพื่อนำมาใช้ควบคุมกำกับสถานประกอบการอาหาร เช่น ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร แผงลอย ซูเปอร์มาร์เกต มินิมาร์ท ร้านขายของชำ และโรงเรียน ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตลอดจนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเกิดการเจ็บป่วยจากโรคภัยที่มาจากการเตรียม ประกอบ ปรุง จำหน่ายอาหาร และเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการประกอบกิจการ รวมตลอดจนต้องพิทักษ์ป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงด้วย
เมื่อยกระดับขึ้นมาเป็นกองสุขาภิบาลอาหารได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กรุงเทพฯเมืองอาหารปลอดภัยขึ้นมาขับเคลื่อนงานโดยมียุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวางระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอาหาร ทำให้เกิดงานเฝ้าระวังคุณภาพอาหารในกรุงเทพมหานครอย่างกว้างขวางในพื้นที่ 50 เขต จัดให้มีรถตรวจสอบคุณภาพอาหารออกสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเพื่อค้นหาสารเคมีอันตรายที่อาจปนเปื้อนมาในอาหารโดยใช้ชุดทดสอบภาคสนาม ตรวจหาสารบอแรกซ์ สารกันรา ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว สารโพลาร์ กรดแร่อิสระ สีสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลงในผักสดและผลไม้ ตรวจหาสารไอโอเดทในเกลือบริโภค และตรวจทดสอบความสะอาดของอาหาร ภาชนะ มือของผู้สัมผัสอาหารด้วยชุดทดสอบ SI2
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างหลักประกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้จัดให้มีการประกวดตราสัญลักษณ์ เพื่อใช้เป็นโลโก้ในการขับเคลื่อนโครงการกรุงเทพฯเมืองอาหารปลอดภัย และได้ใช้โลโก้ (ช้างน้อย) ที่ชนะการประกวดเป็นตราสัญลักษณ์บนป้ายรับรองอาหารปลอดภัย และทำการออกป้ายรับรองอาหารปลอดภัยให้กับสถานประกอบการอาหารทุกประเภทตามหมวด 8 และหมวด 9 ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535 โดยสถานประกอบการที่จะขอรับป้ายรับรองต้องได้รับใบอนุญาต/หนังสือรับรองการแจ้ง และต้องผ่านหลักเกณฑ์ 3 ด้านคือ 1)ผ่านเกณฑ์ด้านสุขลักษณะ 2) ผลการตรวจคุณภาพอาหารไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายและเชื้อโรค 3)ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานคร
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเปิดระบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ เอกชน NGO เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัย
ภารกิจงานประจำของกองสุขาภิบาลอาหาร คือ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำแผนงาน โครงการเพื่อพัฒนาระบบงานสุขาภิบาลอาหาร พัฒนาปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ระเบียบ หลักเกณฑ์ให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ กฎหมาย อุปกรณ์ เครื่องมือ งบประมาณและกำลังคน เพื่อให้การปฏิบัติงานของ 50 สำนักงานเขต สามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการและกฎหมาย จัดทำมาตรฐานทางวิชาการสุขาภิบาลอาหารและแนวทางการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบและการควบคุมกำกับด้านสุขลักษณะสถานประกอบการตามหมวด 8 และหมวด 9 ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 พัฒนาและปรับปรุงกลไกระบบการทำงานให้เอื้อต่อการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารในระดับพื้นที่ บริหารจัดการระบบและออกหน่วยตรวจสอบเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงของคุณภาพอาหาร น้ำแข็ง น้ำดื่มที่วางจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้บริการทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหารโดยจัดอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานครให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทางด้านวิชาการสุขาภิบาลอาหาร และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากการประกอบการอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร